แนะนำ โรงแรมที่พัก โตเกียว ญี่ปุ่น อัพเดตล่าสุด

ตะเกียบในวิถีการต้อนรับฉบับญี่ปุ่น


เซยโนะริคิว คือปรมมาจารย์คนสำคัญแห่งการชงชา เป็นผู้ที่ทำให้พิธีการชงชาเป็นพิธีศักดิ์และมีแบบแผนเช่นทุกวันนี้ แม้เซนโนะริคิวจะเป็นบุคลที่มีชื่อเสียงโด่งดัง แต่ท่านได้เหลาตะเกียบให้กลับผู้มาเยือนทุกคนด้วยตัวท่านเองเพราะเชื่อว่าสิ่งนี้คือการต้อนรับที่แสดงออกถึงความจริงใจและเปี่ยมด้วยไมตรีจิต จึงเป็นที่มาของ “ตะเกียบบริคิวบาชิ” ที่กลายเป็นต้นแบบของตะเกียบในปัจจุบัน ตะเกียบบริคิวบาชิมีราคาสูงและนิยมให้เป็นของขวัญ เพราะสามารถสื่อถึงไมตรีจิตของผู้ให้เช่นเดียวกันกับที่ท่านเซนโนะริคิวเหลาตะเกียบให้ผู้มาเยือนด้วยความตั้งใจจริง

คนญี่ปุ่นเชื่อว่าอาหารล้วนมาจากธรรมชาติ เช่น ท้องนา นํ้าฝน แสงแดด คือที่มาของเม็ดข้าว ปลาจากท้องทะเลและแม่นํ้าก็คือที่มาของซูชิแสนอร่อย และตะเกียบนี่เองที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างอาหารหรือของขวัญจากธรรมชาติที่นำมาสู่ปากของมนุษย์ จึงนับว่าตะเกียบแฝงไปด้วยความหมายที่ลึกซึ้งที่มากกว่าแค่อุปกรณ์ในการรับประทานอาหารประเภทหนึ่งเท่านั้น

สำหรับคนญี่ปุ่น ตะเกียบถือเป็นหนึ่งอุปกรณ์ที่มีความสำคัญต่อการใช้ชีวิต เรียกว่ารู้จักและคุ้นเคยกันมาตั้งแต่เกิดเลยทีเดียว เมื่อเด็กญี่ปุ่นมีอายุครบ 100 วัน จะมีการจัดพิธีที่ชื่ิอว่า โอะคุอิโซะเมะ (Okuizome) พิธีการเฉลิมฉลองการทานอาหารครั้งแรกสำหรับเด็กซึ่งมีตะเกียบรวมอยู่ในนั้นเพื่อให้ทั้งชีวิตของเด็กไม่ลำบากเรื่องอาหารการกิน พิธีนี้นี่เองที่เด็กจะได้สัมผัสกับตะเกียบเป็นครั้งแรก ตะเกียบยังผูกพันกับชีวิตคนญี่ปุ่นเรื่อยไปกระทั่งถึงวันตาย หลังร่างกายถูกเผาจะมีการใช้ตะเกียบคีบเถ้ากระดูกใส่ในโกศ และในการเซ่นวิญญาณคนตาย ตะเกียบก็จะถูกปักไว้บนข้าว จากนั้นจะทิ้งตะเกียบคู่นั้นเมื่อไหว้เสร็จเพื่อไม่ให้คนอื่นนำไปใช้ นอกจากนี้ในครอบครัวคนญี่ปุ่นทุกคนจะมีตะเกียบของตัวเองไม่ใช้ร่วมกันซึ่งเป็นวัฒธรรมดั้งเดิมที่อยู่คู่คนญี่ปุ่นมาช้านาน